Last updated: 12 พ.ย. 2562 | 3618 จำนวนผู้เข้าชม |
โดย...นพ.โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สภาวะตึงเครียดในปัจจุบันส่งผลให้จำนวนผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน” มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยพบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ มาจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่โรคมะเร็งเท่านั้น และจากสถิติที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ 30% ของจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้มักไม่ปรากฏอาการหรือมีสัญญาณของโรคที่น่าสงสัยใดๆ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ จนกระทั่งมารู้ตัวอีกทีก็เมื่อพบว่าอาการของโรคถึงขั้นรุนแรงแล้ว
สถิติผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปีที่ผ่านมาประมาณว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคดังกล่าว สูงถึงกว่า 10 ล้านคน และคาดว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า จำนวนการตายจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 13 ล้านคนมาจากประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ในประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 เท่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนสาเหตุของการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั้นพบว่า สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ การทำงานที่แข่งขันกับเวลา ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันสูง เบาหวาน ความอ้วน การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย ความเครียด และอาหาร
จากสถิติที่ผ่านมามักพบว่า เพศชายมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้มากกว่าเพศหญิง 3 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 5 เท่า ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันก่อนวัยอันควร (ผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี, ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มีผลต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่จะมีผลกระทบไม่เท่ากันในเพศต่างกัน เช่น โรคเบาหวานและอัตราส่วน HDL/total cholesterol ต่ำมีผลในผู้หญิงมากกว่า การสูบบุหรี่มีผลในผู้ชายมากกว่าภาวะความดันโลหิตสูงมีผลต่อทั้งสองเพศ
โดยอาการเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางร้าวไปไหล่ซ้ายและแขนซ้าย บางรายมีปวดร้าวขึ้นไปตามคอ อาการเป็นมากขึ้นเวลาออกแรง นั่งพักจะดีขึ้น ในรายที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมากจนตัน จะทำให้มีการขาดเลือดอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง กระสับกระส่าย เหงื่อออกตัวเย็น ถ้านำส่งโรงพยาบาลไม่ทันก็อาจเสียชีวิตได้ ภาวะไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะเพิ่มขึ้นตามระดับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) และ LDL cholesterol สูง HDL cholesterol ต่ำ (จากการศึกษาของ Framingham พบว่าอัตราเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเพิ่มขึ้น 25% สำหรับทุกๆ 5mg/dL ที่ลดลงต่ำกว่าค่ามัธยฐานของ HDL cholesterol ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง)
กล่าวได้ว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั้นเกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือด ผลจากการมีไขมันและการสะสมของหินปูนไปเกาะเส้นเลือดแดง จนเกิดการอุดตันหรือเส้นเลือด ปริแตกเกิดขึ้น จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง บางรายอาจทำให้เสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ ส่วนเหตุที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อม เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน เป็นต้น
สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่ได้รับความนิยม คือการขยายหลอดเลือดที่ตีบด้วย บอลลูน และใส่ขดลวดค้ำยัน ในรายที่มีหลอดเลือดตีบหลายตำแหน่ง การรักษาที่เป็นมาตรฐาน มักจะใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่รู้จักกันว่า “การทำบายพาส” โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดภายในทรวงอกด้านซ้าย และเส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้ายหรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านใน มาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือดโดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ
กรณีแพทย์ตัดสินใจทำการผ่าตัด ส่วนใหญ่จะทำเมื่อเส้นเลือดตีบและอุดตันแล้วประมาณ 70% ขึ้นไป หลายตำแหน่ง แต่หากมีไขมันมาเกาะโดยไม่มีหินปูน และมีอายุ 30-40 ปี อาจรักษาด้วยการทานยาอาจช่วยให้ไขมันลดลง หรือกรณีที่อุดตันเส้นเดียว ก็ทานยาหรือใส่ขดลวดบอลลูนได้ ปัจจุบันการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจของไทย มีการทำทั้งสองแบบ แต่ผ่าตัดแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ เป็นเทคโนโลยีแนวใหม่ที่นำมาใช้เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลการรักษาดีกว่าแบบเดิม มีโอกาสต้องให้เลือดน้อยลงมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการต้องให้เลือด และอื่นๆก็จะลดลง ขณะที่แบบเดิมหรือผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ทำกันมากว่า 40 ปี
แม้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือนให้ทราบล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตามคุณหมอโชคชัยแนะนำว่า การป้องกันนั้นย่อมดีกว่าการแก้ไข การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ถึง 23% นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มระดับ HDL cholesterol ลดความดันโลหิต การลดน้ำหนัก และช่วยให้การคุมเบาหวานดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า การทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง จะช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตันและอัมพาตจากเส้นเลือดสมองตีบตันลงได้ถึง 40-50% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทานเส้นใยอาหารต่ำอีกด้วย ควรหากิจกรรมคลายความเครียดทำจิตใจให้สบาย หัวเราะบ้าง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาโอกาสตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี